ข้อมูลท่องเที่ยว จังหวัด สกลนคร
แหล่งท่องเที่ยวใน อำเภอ กุดบาก
เขื่อนน้ำพุง
![ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ เขื่อนน้ำพุง จังหวัด สกลนคร](https://i.ytimg.com/vi/-FrCvdlTb30/maxresdefault.jpg)
เขื่อนน้ำพุง อยู่เลยพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ไปประมาณ 30 กิโลเมตร จากตัวเมืองไปตามถนนสายสกลนคร-กาฬสินธุ์ประมาณ 37 กิโลเมตร จะอยู่ทางด้านซ้ายมือ ลักษณะเขื่อนเป็นเขื่อนแบบหินทิ้ง แห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความยาว 1,720 เมตร สูง 40 เมตร ผลิตกระแสไฟฟ้าแจกจ่ายให้ประชาชนในเขตจังหวัดสกลนคร และนครพนม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงทำพิธีเปิดเขื่อนน้ำพุงเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508 บรรยากาศภายในเขื่อนเงียบสงบ เย็นสบาย
แหล่งท่องเที่ยวใน อำเภอ กุสุมาลย์
สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ปู่มเหศักดิ์
สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ปู่มเหศักดิ์ และพิพิธภัณฑ์ไทยโส้ ตั้งอยู่บริเวณที่ว่าการอำเภอกุสุมาลย์ ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 40 กิโลเมตร อยู่ทางด้านขวามือ ตามเส้นทางสายสกลนคร-นครพนม เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สักการะบูชาของชาวไทยโส้ ซึ่งเชื่อว่าเป็นที่สถิตของเทพซึ่งช่วยคุ้มครองชาวไทยโส้ ในพิพิธภัณฑ์เป็นที่เก็บสิ่งของเครื่องใช้ของชาวไทยโส้ซึ่งอพยพมาจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง มีแผ่นป้ายเขียนข้อความภาษาของชาวไทยโส้เปรียบเทียบกับภาษาไทย ให้เห็นถึงความแตกต่างของตัวอักษร และสำเนียงการออกเสียง
แหล่งท่องเที่ยวใน อำเภอ พรรณานิคม
วัดถ้ำขาม
![ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ วัดถ้ำขาม จังหวัด สกลนคร](https://lh3.googleusercontent.com/blogger_img_proxy/AEn0k_vfBjjVCNlNmsXYQOQtd3pZjL_jOh_9gqWTIFSu4FrkG6c_cz1wfGcdP-cBlBWmzA0BduUmFcx8XJqWfEHSMRqehmCd30ZBg4z1QtbEq9HMG1-yAENkJbqLzVfcppPAiOVtgN9SWw4=s0-d)
วัดถ้ำขาม หรือ ภูขาม ชาวบ้านมักเรียกว่า ภูคำขาม อยู่ในเขตบ้านคำป่า ตั้งอยู่บนภูขาม ซึ่งเป็นเขาลูกหนึ่งบนเทือกเขาภูพาน การเดินทาง ใช้เส้นทางสายสกลนคร-อุดรธานี เส้นทางหลวงหมายเลข 22 ไปประมาณ 22 กิโลเมตร มีทางแยกซ้ายเข้าทางเดียวกับพระธาตุภูเพ็กไปอีกประมาณ 10 กิโลเมตร ก่อนที่จะตรงขึ้นไปพระธาตุภูเพ็กมีทางแยกขวาไปประมาณ 30 กิโลเมตร
วัดถ้ำขามนี้เดิมเป็นที่ปฏิบัติธรรมของ พระอาจารย์ฝั้นอาจาโร ท่านได้จำพรรษาอยู่ที่วัดนี้จนถึงประมาณ พ.ศ. 2507 ท่านอาพาธจึงได้ไปจำพรรษาที่วัดป่าอุดมสมพร นอกจากนี้ยังเป็นวัดหนึ่งที่เก็บอัฐิของพระอาจารย์เทศก์ เทศรังสี ซึ่งมีผู้คนยังเดินทางมาสักการะบูชาอยู่เป็นประจำ
วัดคำประมง
วัดคำประมง ตั้งอยู่ที่บ้านคำประมง ตำบลสว่าง เดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 22 สายสกลนคร-พรรณานิคมประมาณ 37 กิโลเมตร และเลี้ยวขวาไปทางอำเภออากาศอำนวยอีกประมาณ 10 กิโลเมตร อาคารต่าง ๆ สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ วัดนี้เป็นที่วิปัสสนาของพระครูสันติวรญาณ (หลวงปู่สิม พุทธาโร) พระเกจิอาจารย์ชื่อดังรูปหนึ่งของไทย
พิพิธภัณฑ์อาจารย์ฝั้น
![ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ พิพิธภัณฑ์อาจารย์ฝั้นจังหวัด สกลนคร](https://lh3.googleusercontent.com/blogger_img_proxy/AEn0k_sDM8jhBhm6JaMUPFhehA6XeJg25-hbPjc9m-Wy9OVGdmrn6Ul5zLwRoNIx5GIIcXsI7N5uYhV60-brj6A9zYZZDWRsxiUIs0IcwTdpUk8BPUOMy8iRBiYz7qoBRyiMhwgQUxIcs6VbhwMsrYda5TnrSZ5tJBjqkTJI=s0-d)
พิพิธภัณฑ์อาจารย์ฝั้น อาจาโร ตั้งอยู่ที่วัดป่าอุดมสมพร ตำบลพรรณานิคม ตามเส้นทางสกลนคร-อุดรธานี เส้นทางหลวงหมายเลข 22 จากสกลนครถึงอำเภอพรรณานิคมประมาณ 37 กิโลเมตร จะมีทางแยกเลี้ยวขวาผ่านตัวอำเภอพรรณานิคมไปประมาณ 2 กิโลเมตร ลักษณะตัวพิพิธภัณฑ์เป็นรูปเจดีย์ฐานกลมกลีบบัวสามชั้น ภายในมีรูปปั้นพระอาจารย์ฝั้นมีขนาดเท่ารูปจริง ในท่านั่งห้อยเท้า และถือไม้เท้าไว้ในมือ มีตู้กระจกบรรจุอัฐิ และแสดงเครื่องอัฐบริขารที่ท่านใช้เมื่อยามมีชีวิต รวมทั้งประวัติความเป็นมาตั้งแต่เกิดจนมรณภาพ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร กำเนิดในสกุลสุวรรณรงค์ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2442 ที่ตำบลบ้านม่วงไข่ อำเภอพรรณานิคม และได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ 19 ปี ณ วัดโพนทอง จนอายุครบ 20 ปี จึงอุปสมบทในพุทธศาสนาฝ่ายมหานิกาย ต่อมาได้ถวายตัวเป็นลูกศิษย์ติดตามพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
แหล่งท่องเที่ยวใน อำเภอ พังโคน
เขื่อนน้ำอูน
![ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ เขื่อนน้ำอูน จังหวัด สกลนคร](https://lh3.googleusercontent.com/blogger_img_proxy/AEn0k_usQHdm_kU2MxUTjpoo5BJU4nXH6Ki03N7A8uwOlTUIuASGuo1EpQAGX0X39RpbSzDQlKijs-xg7fgqcT2iZwsm=s0-d)
เขื่อนน้ำอูน อยู่ในความดูแลของกรมชลประทาน ใช้เส้นทางสายสกลนคร-อุดรธานี เส้นทางหลวงหมายเลข 22 ก่อนถึงอำเภอพังโคน ประมาณ 5 กิโลเมตร มีทางแยกซ้ายเข้าถนนสายพังโคน-วาริชภูมิ (ทางหลวงหมายเลข 227) เข้าไปประมาณ 5 กิโลเมตร รวมระยะทางจากจังหวัดประมาณ 57 กิโลเมตร เขื่อนแห่งนี้เป็นเขื่อนดิน สร้างกั้นลำน้ำอูนซึ่งเป็นสายหนึ่งของแม่น้ำสงคราม ซึ่งมีต้นน้ำมาจากเทือกเขาภูพาน เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในการชลประทาน บรรยากาศเหมาะสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ สภาพโดยทั่วไปเป็นอ่างเก็บน้ำกว้างใหญ่ รายล้อมด้วยเทือกเขาภูพาน และป่าไม้ที่สวยงาม บริเวณใกล้กับสันเขื่อนเป็นน้ำตกขนาดเล็กที่เกิดจากการระบายน้ำออกจากเขื่อน
แหล่งท่องเที่ยวใน อำเภอ วาริชภูมิ
พระธาตุศรีมงคล
![ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ พระธาตุศรีมงคล จังหวัด สกลนคร](https://lh3.googleusercontent.com/blogger_img_proxy/AEn0k_vwiBHwJIvwoXgM4Azn9PSt6qwxVcIfrf_dUPuNDPcgpW5_EDfQz_8VCdyPTh1XzcwYy6jJorFDu9JxIjGbDYSdy3B0ERXhoYu3by8UK21WcbxiN0ClwjiOJO3-3IFY9A=s0-d)
พระธาตุศรีมงคล ตั้งอยู่ที่วัดพระธาตุศรีมงคล ตำบลบ้านธาตุ ริมเส้นทางสายพังโคน-วาริชภูมิ ห่างจากที่ว่าการอำเภอวาริชภูมิ 200 เมตร ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 65 กิโลเมตร ลักษณะเป็นเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยม ยอดแหลม ตกแต่งด้วยศิลปกรรมยุคใหม่ ก่ออิฐถือปูนประดับด้วยลายปั้นดินเผา บริเวณฐานเป็นพุทธประวัติของพระพุทธเจ้าสร้างด้วยดินเผาที่สร้างขึ้นครอบพระธาตุองค์เดิม ซึ่งเป็นศิลาแลงที่ชำรุด นับเป็นพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองของชาวอำเภอวาริชภูมิ การคมนาคมสะดวกรถยนต์สามารถเข้าถึงบริเวณวัด
ถ้ำพระพุทธไสยาสน์
ถ้ำพระพุทธไสยาสน์ (ถ้ำพระทอง หรือภูผาทอง) ตั้งอยู่ที่ตำบลค้อเขียว ห่างจากที่ว่าการอำเภอวาริชภูมิประมาณ 9 กิโลเมตร บริเวณถ้ำมีลักษณะนำเพิงหินมาดัดแปลงก่อสร้างเพิ่มเติมเป็นศาลาการเปรียญ บริเวณใกล้ถ้ำมีหินธรรมชาติรูปร่างแปลก ๆ มากมาย
ภูอ่างศอ
ภูอ่างศอ อยู่ที่ตำบลคำบ่อ ห่างจากศูนย์ราชการ 18 กิโลเมตร เหมาะสำหรับผู้ที่ชอบตั้งแค้มป์เป็นหมู่คณะ โดยเฉพาะในฤดูหนาวนั้นมีความงามไม่แพ้ภูกระดึง
แหล่งท่องเที่ยวใน อำเภอ ส่องดาว
อ่างเก็บน้ำต่างๆ
ตั้งอยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลางตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็กที่มีทิวทัศน์สวยงาม เช่น อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำหยาด อ่างเก็บน้ำห้วยมะไฟตอนบน อ่างเก็บน้ำห้วยกระเฌอ และอ่างเก็บน้ำห้วยหาด
ถ้ำต่าง ๆ
ตั้งอยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก บริเวณเทือกภูผาเหล็ก มีถ้ำที่น่าสนในเหมาะแก่การท่องเที่ยว พักผ่อน และผจญภัยในการเดินป่า เช่น ถ้ำแกลบ ถ้ำท้องช้าง ถ้ำทองคำ (ถ้ำจิก)
กิจกรรม - เที่ยวถ้ำ/ธรณีวิทยา
น้ำตกแก่งกุลา
![ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ น้ำตกแก่งกุลา จังหวัด สกลนคร](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEhTQBhQfPoEd9ZAfG9iPIJNKAJXRUbxVSE88pMKw2-gP1SwgVtvBIJrLQ9kfo_2svTAbhQf3RVfGFVLNHpVV2iq1JEy3S4hONWwqs8XklKAAeLPoR6olkB8aeC8PAwEk1oQXHNXFTApHTet/s640/13256548_10209632774753152_6307424620043548851_n.jpg)
ตั้งอยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก เป็นน้ำตกขนาดเล็กที่ไหลลงจากเทือกภูผาเหล้กทางด้านทิศเหนือ มีน้ำตลอดทั้งปี มีน้ำมากในฤดูฝน สายน้ำจะไหลรวมกันเป็นลำน้ำ ไหลลงสู่เขื่อนน้ำอูน จังหวัดสกลนคร
กิจกรรม - เที่ยวน้ำตก
น้ำตกดีหมี
ตั้งอยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก เป็นน้ำตกขนาดปานกลางมีน้ำไหลตลอดทั้งปี อยู่บนสันเขาภูสันตาแสงและภูผาแดงพื้นที่อำเภอวังสามหมอ จังหวัดอุดรธานี น้ำตกดีหมีเป็นต้นน้ำของห้วยลำพันชาด ที่ไหล ลงสู่เขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ และลงสู่แม่น้ำชี
กิจกรรม - เดินป่าศึกษาธรรมชาติ - เที่ยวน้ำตก
น้ำตกเก้าชั้น
ตั้งอยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก เป็นน้ำตกขนาดเล็กลดหลั่งจากยอดเขาภูผาเหล็ก และไหลลงอ่างเก็บน้ำห้วยมะไฟตอนบน และไหลลงสู่แม่น่ำสงคราม มีน้ำในฤดูฝน ประมาณ 8 เดือน
กิจกรรม - เดินป่าศึกษาธรรมชาติ - เที่ยวน้ำตก
น้ำตกตาดผาทอง
ตั้งอยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ สูงประมาณ 25 เมตร เป็นต้นน้ำแม่น้ำสงคราม
กิจกรรม - เที่ยวน้ำตก
สุสานไดโนเสาร์
ตั้งอยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก ตั้งอยู่บริเวณกลางเขาภูผาเหล็ก อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร และบริเวณชายป่าภูพาน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ มีลักษณะเป็นกระดูกสัตว์ที่กลายเป็นหินมีอายุ หลายล้านปีทับถมกันจำนวนมาก บางส่วนยังฝังอยู่ในหิน ในดิน มีลักษณะเป็นฟอสซิลของสัตว์และพืช เช่น ไม้กลายเป็นหินจำนวนมาก ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนพิสูจน์จึงยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นสัตว์ชนิดใด อายุเท่าไร ซึ่งมีอาณาบริเวณกว้างกว่า 1,250 ไร่ และประมาณว่ามีซากสัตว์ดึกดำบรรพ์มากกว่าร้อยทับถมกันอยู่ จึงจัดว่าเป็นพื้นที่สุสานไดโนเสาร์ก็ว่าได้
กิจกรรม - ชมประวัติศาสตร์
ภาพเขียนก่อประวัติศาสตร์ผาผักหวาน
ตั้งอยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก เป็นภาพเขียนโบราณ อายุประมาณ 3,600 ปี อยู่บนก้อนหินขนาดใหญ่ เป็นภาพลักษณะคล้ายผู้หญิง ทรงผมกลมโต ยืนเรียงกันเป็นแถวโดยใช้มือเกาะไหล่กัน คล้ายทำกิจกรรมอะไรบ้างอย่าง เป็นลักษณะน่องโป่งระบายด้วยสีแดงทึบอยู่ในป่าดง พันนา ป่าดงพระเจ้า บ้านภูตะดาม ตำบลท่าศิลา ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ประมาณ 18 กิโลเมตร
กิจกรรม - ชมประวัติศาสตร์
ผาสุริยันต์
ตั้งอยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก เป็นหน้าผาสูงอยู่บนยอดสูงสุดของภูผาเหล็ก เป็นจุดชมทิวทัศน์ที่สวยงามและเป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นในยามเช้าได้สวยงามนและน่าประทับใจ
กิจกรรม - ชมประวัติศาสตร์
ผาดงก่อ
ตั้งอยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก เป็นหน้าผาสูงอยู่บนยอดภูผาเหล็กถัดจากผาสุริยันต์มาทางทิศตะวันออก เป็นจุดชมทิวทัศน์ สามารถมองเห็นบริเวณป่าทึบและเทือกเขาสลับซับซ้อนกันมากมาย
กิจกรรม - เดินป่าศึกษาธรรมชาติ - ชมทิวทัศน์
ผาน้ำโจ้ก
ตั้งอยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก เป็นหน้าผาสูงอยู่ยอดภูผาเหล็กทางทิศตะวันออก เป็นจุดชมทิวทัศน์ที่สามารถมองเห็นอ่างเก็บน้ำห้วยหาด และมองได้ไกลถึงจังหวัดอุดรธานี จังหวัดขอนแก่น และสามารถชมดวงอาทิตย์ตกดินในยามอัสดงได้สวยงามมาก
กิจกรรม - ชมทิวทัศน์ - เดินป่าศึกษาธรรมชาติ
หอส่องดาว
ตั้งอยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก ตั้งอยู่บนยอดเขาภูผาเหล็ก ซึ่งมีความสูงจากระดับน้ำทะเล ประมาณ 700 เมตร สามารถมองเห็นทัศนียภาพรอบด้านได้เกือบ 360 หอส่องดาวจึงใช้เป็นสามารถที่สำหรับศึกษา ดวงดาวในเวลากลางคืน และชมปรากฎการณ์ฝนดาวตกได้ชัดเจนมาก และทุกครั้งที่มีปรากฏการณ์ฝนดาวตก นักท่องเที่ยวก็จะมาจองพื้นที่บริเวณกันจำนวนมากกว่าพันคน
กิจกรรม - ดูดาว - ชมทิวทัศน์
ป่าหินดานมันปลา
![ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ป่าหินดานมันปลา จังหวัด สกลนคร](https://lh3.googleusercontent.com/blogger_img_proxy/AEn0k_vRdNOAHdhFVEfkDv8hE4RAUjRM7IpJWHUFJ5pHO3ICMRMOTORIspqsgSXeWhOHKAa24N532r_nU2AhZKM5W9oemN5rd0P97g3mBPcjfINnq8Tp17jkJG_OCOdx-wt94vJPUAKwdLvh8_VsJTqkpOaXiz_yHYtHijBgQLkevySv4uG8deT0J2utnFQ6fCgxOz4DOhv0FMqYqUgV=s0-d)
ตั้งอยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก เป็นโขดหินทรายที่สลับซับซ้อนเป็นบริเวณกว้างประมาณ 2 พันไร่ มีทุ่งหญ้าและลานดอกไม้ขึ้นสวยงาม เช่น ดอกกระดุมเงิน ดอกเอนอ้า ดอกหญ้าหัวก่ำดำ ดอกดาวอีสาน และดอกตองหมอง ฯลฯ
ลานอุษาสวรรค์
ตั้งอยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก เป็นบริเวณที่ราบบนยอดภูผาเหล็ก เนื้อที่ประมาณ 1,550 ไร่ ซึ่งมีสภาพเป็นทุ่งหญ้าป่าละเมาะ เขาและโขดหินทอดสลับกับทุ่งหญ้า ดูคล้ายสวนประดิษฐ์ มีดอกไม้ป่าขึ้นมากมาย เช่น ดอกสารภีดอย ดอกเอนอ้า ดอกดาวเรืองภู ดอกม้าวิ่ง ดอกหญ้าข้าวก่ำ ดอกกระดุมเงิน ดุสิตตา ฯลฯ
กิจกรรม - ชมพรรณไม้
แหล่งท่องเที่ยวใน อำเภอ เต่างอย
อุทยานแห่งชาติภูผายล
แห่งชาติภูผายล หรือเดิมเรียกว่าอุทยานแห่งชาติห้วยหวด มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอเมือง อำเภอโคกศรีสุพรรณ อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม และอำเภอดงหลวง อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร เป็น 1 ใน 5 ของโครงการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ วันที่ 5 ธันวาคม 2530 สภาพทั่วๆ ไปเป็นที่ราบสูงสลับกับเทือกเขาหินทราย เป็นป่าต้นน้ำลำธาร มีธรรมชาติและทิวทัศน์ที่สวยงาม เช่น น้ำตก ถ้ำ หน้าผา เนินหิน อ่างเก็บน้ำ และสัตว์ป่านานาชนิด มีเนื้อที่ประมาณ 517,850 ไร่ หรือ 828.56 ตารางกิโลเมตร
ด้วยกรมป่าไม้ได้รับหนังสือกรมชลประทาน ที่ กษ 0301/ส.524 ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2527 แจ้งว่า เนื่องในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยหวด ตำบลเต่างอย กิ่งอำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2527 ได้พระราชทานพระราชดำริตอนหนึ่งว่า “ควรอนุรักษ์สภาพธรรมชาติ และป่าไม้บริเวณใกล้กับหัวงานเขื่อนเก็บกักน้ำของโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยหวด ตลอดจนบริเวณข้างเคียงของอ่างเก็บน้ำ พร้อมกับควรปรับปรุงเสริมแต่งบริเวณให้มีความสวยงามและเหมาะสมเพื่อพัฒนาให้เป็นอุทยานแห่งชาติหรือส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี โดยให้กรมชลประทานและส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินการโดยเร่งด่วนต่อไปด้วย” กรมชลประทานจึงขอความร่วมมือกรมป่าไม้ให้รีบดำเนินการโครงการอนุรักษ์สภาพธรรมชาติและป่าไม้ในบริเวณดังกล่าว แล้วจัดเป็นอุทยานแห่งชาติหรือแหล่งท่องเที่ยวเพื่อสนองพระราชดำริต่อไป
![ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ อุทยานแห่งชาติภูผายล จังหวัด สกลนคร](https://lh3.googleusercontent.com/blogger_img_proxy/AEn0k_t32SoiiMFPcgxkMvFxFdGbJTNteqF0I8-BJ2HJ8JlEXWNbyCWB1269u7vT4Lkb5lJz8QSYhcxANUnyxTkdTEd1j62WX8tVMlG8-A2whTgBXdBt7_s9xkQy9t1kHq8FpxHqIzw_LKj-G2gyxo8XziURmYqrHLkClwA=s0-d)
กองอุทยานแห่งชาติจึงได้มีหนังสือ ที่ กษ 0713/140 ลงวันที่ 14 มกราคม 2528 ให้อุทยานแห่งชาติภูพานตรวจสอบพื้นที่บริเวณดังกล่าว ปรากฏว่ามีสภาพป่าธรรมชาติอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร มีธรรมชาติและทิวทัศน์ที่สวยงาม ตามหนังสืออุทยานแห่งชาติภูพาน ที่ กษ 0713(ภพ)/144 ลงวันที่ 27 มีนาคม 2528 นำส่งรายงานการสำรวจเบื้องต้นพื้นที่ดังกล่าวของนายมานพ กำจรเจิด นักวิชาการป่าไม้ 4 และหนังสืออุทยานแห่งชาติภูพาน ที่ กษ 0713(ภพ)/532 ลงวันที่ 17 ธันวาคม 2528 นำส่งรายละเอียดต่างๆ บริเวณดังกล่าวของนายวุฒิการ อำพลศักดิ์ ภูมิสถาปนิก และกองอุทยานแห่งชาติได้มีหนังสือ ที่ กษ 0713/405 ลงวันที่ 28 มกราคม 2529 ให้อุทยานแห่งชาติภูพานทำการสำรวจสภาพป่าอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งอุทยานแห่งชาติภูพานได้มีหนังสือ ที่ กษ 0713(ภพ)/พิเศษ ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2529 รายงานผลการสำรวจเพื่อจัดตั้งบริเวณดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติ ของนายประมุข ทิชากร นักวิชาการป่าไม้ 5 ให้กองอุทยานแห่งชาติดำเนินการเสนอจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติต่อไป
กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งได้มีมติในคราวประชุมครั้งที่ 2/2529 เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2529 เห็นชอบในหลักการให้จัดพื้นที่บริเวณป่าเหนืออ่างเก็บน้ำห้วยหวดเป็นอุทยานแห่งชาติ และเป็นโครงการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติเพื่อการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสมหามงคลพระชนมพรรษา 5 รอบ วันที่ 5 ธันวาคม 2530 โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าภูล้อมข้าวและป่าภูเพ็ก ในท้องที่ตำบลตองโขน ตำบลเหล่าโพนค้อ กิ่งอำเภอศรีสุพรรณ อำเภอเมืองสกลนคร ตำบลกกปลาซิว อำเภอเมืองสกลนคร และตำบลจันทร์เพ็ญ ตำบลเต่างอย กิ่งอำเภอเต่างอย อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร ป่าดงภูพาน ในท้องที่ตำบลหนองบ่อ ตำบลคำพี้ ตำบลก้านเหลือง ตำบลบ้านแก้ง ตำบลนาแก ตำบลพิมาน อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม และตำบลกกตูม ตำบลฟังแดง ตำบลดงหลวง อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร และป่าดงภูศรีฐาน ในท้องที่ตำบลคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร ตำบลบ้านเหล้า ตำบลบ้านค้อ ตำบลโพนงาม อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 105 ตอนที่ 122 ลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2531 โดยใช้ชื่อว่า “อุทยานแห่งชาติห้วยหวด” นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 57 ของประเทศ
ต่อมาอุทยานแห่งชาติห้วยหวดได้มีหนังสือ ที่ กษ 0712.344/911 ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2543 ขออนุมัติเปลี่ยนชื่ออุทยานแห่งชาติห้วยหวด เป็น “อุทยานแห่งชาติภูผายล” โดยให้เหตุผลคือ ชื่ออุทยานแห่งชาติในภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่วนมากมีคำว่า “ภู” นำหน้า และเพื่อให้สอดคล้องกับจุดเด่น คือ ภูผายล ซึ่งเป็นจุดเด่น เป็นศิลปะหินและเป็นเอกลักษณ์ทางศิลปวัฒนธรรมของคนโบราณ ซึ่งนักโบราณคดีคำนวณอายุภาพสลักบนฝาหินว่า มีอายุไม่ต่ำกว่า 3,000 ปี และเป็นถิ่นที่อยู่ของกลุ่มชนก่อนประวัติศาสตร์ เหมาะที่จะพัฒนาเป็นจุดชมทิวทัศน์และแหล่งท่องเที่ยวในอนาคตได้ จึงเห็นสมควรเปลี่ยนชื่ออุทยานแห่งชาติห้วยหวดเป็น “อุทยานแห่งชาติภูผายล” และกรมป่าไม้พิจารณาแล้ว เพื่อให้สอดคล้องกับเอกลักษณ์สำคัญของอุทยานแห่งชาติและจังหวัดสกลนคร คือ ภูผายล ซึ่งเป็นศิลปกรรมภาพแกะสลักลายเส้นอายุกว่า 3,000 ปี จึงเปลี่ยนชื่ออุทยานแห่งชาติห้วยหวดเป็นชื่อ “อุทยานแห่งชาติภูผายล” ตามประกาศกรมป่าไม้ ณ วันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2544
ภูผายล
![ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ถ้ำพระด่านแร้งจังหวัด สกลนคร](https://lh3.googleusercontent.com/blogger_img_proxy/AEn0k_uhci-KMjoMt6mZtaOnFpOBN42yw8JXoCkeNV8xUD18kWqJpXbMnJlObLaEb1fH4q2hD8eN_uaDzludFWqp1CyyrTmqhgnqh6yx3HMdxVtNPURGCEQCrW1XACAfu_5OYGvHChXReCnQQYDPGSuvfw=s0-d)
ตั้งอยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติภูผายล อยู่ห่างจากอำเภอเต่างอยไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 2339 (เต่างอย-ศรีวิชา) ประมาณ 5 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนบ้านม่วงคำ-นาอ่าง ไปถึงบ้านนาผาง รวมระยะทางประมาณ 35 กิโลเมตร จากนั้นจะมีบันไดขึ้นภูทั้งหมด 238 ขั้น บนยอดภูนอกจากจุดชมทิวทัศน์ที่สวยงามแล้ว บนผนังผายังมีรอยแกะสลักโบราณอายุกว่า 3,000 ปี เป็นรูปคน กวาง วัว ควาย ลายเรขาคณิต ฝ่ามือ เป็นต้น
กิจกรรม - ชมทิวทัศน์ - เที่ยวถ้ำ/ธรณีวิทยา
ถ้ำพระด่านแร้ง
ตั้งอยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติภูผายล เดินเท้าจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติไปเพียง 350 เมตร ลักษณะถ้ำเป็นเพิงผาหินทราย ยาว 60 เมตร สูง 3 เมตร มีภาพแกะสลักโบราณเป็นภาพเรขาคณิต ภาพมือ ภาพสัตว์ต่างๆ
กิจกรรม - ชมประวัติศาสตร์ - เที่ยวถ้ำ/ธรณีวิทยา
ถ้ำม่วง
ตั้งอยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติภูผายล อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 5 กิโลเมตร ทางเข้าสู่ถ้ำม่วงเป็นทางเดินเท้าผ่านป่าเต็งรังสลับกับป่าเบญจพรรณ ที่ผาหินมีภาพสลักโบราณอายุ 2,000-3,000 ปี
กิจกรรม - ชมประวัติศาสตร์ - เที่ยวถ้ำ/ธรณีวิทยา
อ่างเก็บน้ำห้วยหวด
ตั้งอยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติภูผายล อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 500 เมตร รถยนต์เข้าถึงสะดวก มีจุดชมทิวทัศน์บริเวณสันเขื่อนและหน้าผาใกล้ขอบอ่างหลายแห่ง รวมทั้งยังมีลานหินที่วางตัวตามธรรมชาติอย่างสวยงาม เหมาะสำหรับมาเที่ยวพักผ่อน ชมภาพพระอาทิตย์ตกน้ำยามเย็น และเดินป่าศึกษาธรรมชาติ
กิจกรรม - ชมทิวทัศน์ - เดินป่าศึกษาธรรมชาติ
ถ้ำหีบภูผานาง
ตั้งอยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติภูผายล ตั้งอยู่ในท้องที่กิ่งอำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร
กิจกรรม - เที่ยวถ้ำ/ธรณีวิทยา
ถ้ำพระเวทย์
ตั้งอยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติภูผายล ตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม
กิจกรรม - เที่ยวถ้ำ/ธรณีวิทยา
ถ้ำเสาวภา
ตั้งอยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติภูผายล ตั้งอยู่ในท้องที่กิ่งอำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร
กิจกรรม - เที่ยวถ้ำ/ธรณีวิทยา
หน้าผาเนินหิน
ตั้งอยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติภูผายล ประกอบด้วยลานดอกไม้ มีไม้ดอกสีม่วง คือ ดอกดุสิตา สีเหลืองและสีขาวบริเวณหน้าผาจะพบเห็นดอกไม้ชนิดหนึ่งคล้ายดอกกล้วยไม้ ซึ่งออกดอกช่วงฤดูหนาว
กิจกรรม - ชมพรรณไม้
น้ำตกคำน้ำสร้าง
ตั้งอยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติภูผายล เป็นน้ำตกที่สูงที่สุดของอุทยานแห่งชาติภูผายล สูงประมาณ 25 เมตร สายน้ำไหลมาจากห้วยคำน้ำสร้าง เดินเท้าจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติไปประมาณ 1.8 กิโลเมตร จะถึงน้ำตก ในช่วงปลายฝนต้นหนาวระหว่างทางจะพบดอกไม้หลายชนิดที่ชอบขึ้นอยู่ตามลานหิน
กิจกรรม - ชมพรรณไม้ - เที่ยวน้ำตก
ผาพญาเต่างอย
ตั้งอยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติภูผายล จากที่ทำการอุทยานแห่งชาติไปตามถนนสายบ้านห้วยหวด-โคกกลาง ระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร จะถึงผาพญาเต่างอยซึ่งอยู่ริมถนนมีลักษณะเป็นหินทรายรูปร่างคล้ายเต่ากำลังจะลงน้ำหันหน้าลงสู่ลำน้ำพุง กว้างประมาณ 5 เมตร มีความเชื่อกันว่า บริเวณใดที่มีเต่างอยแสดงว่าเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อบ้านเต่างอยด้วย
กิจกรรม - เดินป่าศึกษาธรรมชาติ - เที่ยวถ้ำ/ธรณีวิทยา
น้ำตกแก่งโพธิ์
ตั้งอยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติภูผายล จากที่ทำการอุทยานแห่งชาติไปตามถนนสายเปรมพัฒนา แล้วแยกซ้ายที่บ้านสานแว้ ผ่านบ้านนาหินกอง รวมระยะทาง 32 กิโลเมตร เป็นน้ำตกที่สวยงามอีกแห่งหนึ่ง กว้างประมาณ 14 เมตร สูง 10 เมตร บริเวณสายน้ำใต้น้ำตกเป็นแก่งกว้างสามารถกางเต็นท์พักแรมที่ลานขนาดใหญ่ใกล้น้ำตก แล้วเดินป่าศึกษาธรรมชาติ
กิจกรรม - แค็มป์ปิ้ง - เดินป่าศึกษาธรรมชาติ - เที่ยวน้ำตก
ภูก่อ
ตั้งอยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติภูผายล อยู่ห่างจากหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ภย. 2 (ห้วยค้อ) ประมาณ 5 กิโลเมตร เป็นยอดเขาสูงที่สุดของจังหวัดสกลนคร มีลักษณะเป็นหน้าผาที่ทอดยาวคล้ายกำแพง เป็นจุดชมทิวทัศน์ความงามของทะเลหมอกในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม สามารถมองเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นในยามเช้า และเห็นทิวเขาที่เรียงรายสลับซับซ้อนกันอย่างงดงาม
กิจกรรม - ชมทิวทัศน์
แหล่งท่องเที่ยวใน อำเภอ เมืองสกลนคร
พระธาตุภูเพ็ก
![ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ พระธาตุภูเพ็กจังหวัด สกลนคร](https://lh3.googleusercontent.com/blogger_img_proxy/AEn0k_u0lnCEm-hq6vIgxwlPQSg5PB2fY-gT6UsRGyuV65UpAYpDfVI6i7RgFDe90bjeR8j4if9Zf4-IQZJNP9g4-cE6SXyeQfFlYddWfqyVGdeIsJ3SzqXI4eFnYFG2nyh4La1gUPaBD9pogGlMHfignQ=s0-d)
ตั้งอยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติภูพาน เป็นปราสาทที่สร้างขึ้นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 16-17 สมัยขอมบายน อยู่บนยอดเขาภูเพ็กของเทือกเขาภูพานสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 544 เมตร ปราสาทแห่งนี้ก่อด้วยหินทราย ในลักษณะเทวาลัยที่ไม่แล้วเสร็จ เรือนธาตุตั้งอยู่บนฐานยกสูง ตัวเรือนธาตุทั้งสี่ด้านย่อมุมๆละ 5 เหลี่ยม รวมเป็น 20 เหลี่ยม สูงจากพื้นดินถึงขื่อ 7.95 เมตร มีบันไดขึ้นเรือนปราสาท 3 ด้าน คือ ทิศเหนือ ทิศใต้และทิศตะวันตก หน้าอาคารปราสาทหันไปทางทิศตะวันออก ได้มีการขุดพบรูปเคารพสตรีหน้าตักกว้างประมาณ 12 นิ้ว สลักจากศิลาทราย ลักษณะของศิราภรณ์ของสตรีคล้ายกับศิราภรณ์สมัยปาปวน (พ.ศ. 1560-1630) ทางเข้าพระธาตุภูเพ็กอยู่ก่อนถึงน้ำตกคำหอม อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 59 กิโลเมตร
กิจกรรม - ชมประวัติศาสตร์
ถ้ำเสรีไทย
ตั้งอยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติภูพาน เป็นแหล่งสะสมอาวุธยุทธภัณฑ์ไปต่อสู้กับกองทัพญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ของขบวนการเสรีไทย ซึ่งมีนายเตียง ศิริขันธ์ เป็นหัวหน้าขบวนการสายสกลนคร มีเส้นทางเดินเป็นวงรอบรวมระยะทาง 5 กิโลเมตร ผ่านป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ถ้ำเสรีไทย แล้วยังต่อไปชมพระอาทิตย์ตกและจุดชมพระอาทิตย์ขึ้น ทางช่วงสุดท้ายจะผ่านทุ่งกระเจียวที่จะออกดอกงามในช่วงเดือนสิงหาคม อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติไปทางทิศเหนือ 4.5 กิโลเมตร
กิจกรรม - ชมประวัติศาสตร์ - เที่ยวถ้ำ/ธรณีวิทยา
หนองหาน
![ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ หนองหานจังหวัด สกลนคร](https://lh3.googleusercontent.com/blogger_img_proxy/AEn0k_u4ZEeuuG9vGRvG5CE3H2KKaweYaSizr8-uQKAPYsQfyS3xRlsvfGvMrB1EGsiNglYdD78oPn-BO-lV8kwyXVm30rn6izDv3hu3Q-jPiDQHSjM1gsoT4rMVDra7gucKO216zkNJuM3y=s0-d)
หนองหาน เป็นทะเลสาบน้ำจืด ที่มีชื่อเสียง และกว้างใหญ่มากแห่งหนึ่งของประเทศไทย มีเนื้อที่ประมาณ 123 ตารางกิโลเมตร เป็นแหล่งรับน้ำตกของลำห้วยต่าง ๆ หลายสาย และยังเป็นต้นน้ำของลำน้ำก่ำซึ่งไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม อำนวยประโยชน์ในด้านการเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ การประมง ซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านในชุมชนรอบหนองหาน ระดับน้ำในหนองหานลึกประมาณ 3-8 เมตร ในบริเวณหนองหานมีเกาะต่าง ๆ กว่า 20 เกาะ เช่น เกาะดอนสวรรค์ ซึ่งเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุด บนเกาะมีวัดร้าง และพระพุทธรูปเก่าแก่ นอกจากนั้นตามเกาะต่าง ๆ เหล่านี้จะมีต้นไม้ใหญ่ขึ้นอยู่มากมาย เป็นที่อยู่อาศัยของนกนานาชนิด บางเกาะได้สร้างศาลาพักร้อน เช่น เกาะแก้ว เกาะดอนสะคาม และเกาะดอนสะทุง ฯลฯ ซึ่งในเวลากลางวันสาหร่ายที่อยู่ใต้พื้นน้ำ เมื่อแดดส่องลงในน้ำจะเห็นสาหร่ายเป็นสีทอง
สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์
สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ตั้งอยู่ติดกับหนองหาน บริเวณตำบลธาตุเชิงชุม ในตัวเมืองเป็นสวนสาธารณะที่สวยงาม มีเนื้อที่ประมาณ 120 ไร่ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้เสด็จเป็นองค์ประธานพิธีเปิด เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2530 มีลักษณะเป็นสวนล้อมสระน้ำขนาดใหญ่ ชื่อสระพังทอง เป็นสระโบราณ เชื่อกันว่าสร้างมาพร้อมกับการสร้างพระธาตุเชิงชุม ภายในบริเวณสวนประกอบด้วยสวนไม้ดอกไม้ประดับ สวนป่า สวนน้ำ สวนหิน สวนออกกำลังกาย และน้ำพุที่สูงราว 69 เมตร ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษาหาความรู้ ด้านพฤกษศาสตร์ได้อีกด้วย สวนแห่งนี้เปิดตั้งแต่เวลา 04.00-21.00 น. นอกจากนั้นยังมี สวนเทิดพระเกียรติ 60 พรรษา มหาราชินี เป็นสวนขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนพื้นที่ ประมาณ 80 ไร่ อยู่ที่บ้านหนองบัวใหญ่ ห่างจากตัวเมืองประมาณ 3 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 22 เส้นทางสายสกลนคร-บ้านธาตุ แล้วเลี้ยวขวาเข้าไปอีกประมาณ 200 เมตร จะถึงบริเวณสวนซึ่งครอบคลุมพื้นที่ดอนขาม ดอนลังกาภายในบริเวณประกอบด้วยสวน พฤกษชาติ ศาลาพักร้อน น้ำพุ จุดชมวิว ที่อาศัยของนกนานาชนิด และยังเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวสกลนคร
สถานแสดงพันธุ์ปลาน้ำจืด
![ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ สถานแสดงพันธุ์ปลาน้ำจืดจังหวัด สกลนคร](https://lh3.googleusercontent.com/blogger_img_proxy/AEn0k_sXfKp0dirubPYzPF2Kjygie0QiaMvLQq_-cZA-BdxzPxh43YM9W6Afa_rna-3hhwk35x-jXa6rjwwsRC4xCNzMcKuG6pcgtKNBF4SqeA5zTed7YjeRYgbfbu2AR6mP95qiMMFgR4tSwSWKXK7dRKVJJykIrHwfjRgDuhUjfC2830rM34Xvc3HGMFM=s0-d)
สถานแสดงพันธุ์ปลาน้ำจืด ตั้งอยู่ในสถานีประมงน้ำจืด ถนนใสสว่าง ภายในจัดแสดง และให้ความรู้เกี่ยวกับพันธุ์ปลาชนิดต่าง ๆ ที่ค้นพบในภาคอีสาน เช่น ปลาเผือก ปลาหอม ปลาเสือตอ ปลาออสก้าร์ลาย ปลาจันทร์เทศ เป็นต้น ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมได้ทุกวันจันทร์-ศุกร์ ในเวลาราชการ
ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสกลนคร
ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสกลนคร อยู่ภายในสถาบันราชภัฏสกลนคร ถนนนิตโย ตำบลธาตุนาแวง เป็นที่แสดงสิ่งของ เครื่องใช้ของชนเผ่าต่าง ๆ พร้อมภาพประวัติ และเอกสารแสดงความเป็นมาทางศิลปวัฒนธรรม ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0 4271 1274 เปิดบริการตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น.
พระธาตุดุม
พระธาตุดุม อยู่ที่วัดพระธาตุดุม บ้านธาตุดุม ตำบลงิ้วดอน ถนนสาย รพช. ทางไปโรงเรียนพัฒนาศึกษา ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 5 กิโลเมตร มีปรางค์องค์เดียวสร้างด้วยศิลาแลงสมัยเดียวกับพระธาตุนารายณ์เจงเวง แต่องค์ปราสาทเล็กกว่ามีเพียงยอดเดียวไม่มีฐานรองรับ พบทับหลังทั้ง 4 ด้าน ด้านทิศเหนือเป็นภาพนารายณ์บรรทมสินธุ์ นอกจากนี้ยังมีภาพเทวดาทรงพาหนะเหนือหน้ากาลประกอบด้วยสัตว์ต่าง ๆ เช่น ช้าง สิงห์ และลายใบไม้ม้วน การกำหนดอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 16-17 ศิลปะเขมรแบบบาปวน
พิพิธภัณฑ์อาจารย์มั่น
![ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ พิพิธภัณฑ์อาจารย์มั่นจังหวัด สกลนคร](https://lh3.googleusercontent.com/blogger_img_proxy/AEn0k_uV3CI5Jys-jEtVPA5O0o79D3o-94nExFUHXweF1i6oE069jUzncMD4U2KtrjmQGiaXgTlrFblcgDlOoh3kvvbPgCpY_zdvVO4ke5MbgRCcn39H1TnhyqWaO41-tcArZG7u=s0-d)
พิพิธภัณฑ์อาจารย์มั่น ภูริทัตโต ตั้งอยู่ในวัดป่าสุทธาวาส การเดินทาง ไปตามถนนสุขเกษมจนถึงศูนย์ราชการจังหวัดมีทางแยกซ้ายไปอีกประมาณ 250 เมตร ตัวพิพิธภัณฑ์มีลักษณะการก่อสร้างแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ประยุกต์ สร้างด้วยกระเบื้องดินเผา ภายในพิพิธภัณฑ์มีรูปหล่อเหมือนองค์ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ในท่านั่งสมาธิ และมีตู้กระจกบรรจุอัฐิของท่านที่แปรสภาพเป็นแก้วผลึกใสสีขาว ยกฐานสูงพื้นปูด้วยหินอ่อน
พร้อมทั้งตู้แสดงเครื่องอัฐบริขาร รวมทั้งประวัติความเป็นมาของท่านตั้งแต่เกิดจนมรณภาพ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต กำเนิดในสกุลแก่นแก้ว ที่ตำบลโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ 15 ปี และอุปสมบทเมื่ออายุ 22 ปี ที่วัดเลียบ จังหวัดอุบลราชธานี ท่านเป็นพระที่ยึดมั่นในปฏิมาธุดงด์กรรมฐานเป็นวัตร มีพระในสายเดียวกับท่านอีกหลายองค์ที่ได้เข้ามาปฏิบัติ และฝึกวิปัสสนากรรมฐานตามแนวของท่าน เช่น หลวงปู่ฝั้น อาจาโร หลวงปู่ขาว อาลนาโย หลวงปู่แหวน สุจินต์โน เป็นต้น ต่อมาท่านได้ย้ายจากการธุดงค์กรรมฐานเข้ามาจำพรรษาที่วัดป่าสุทธาวาส และมรณภาพเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492
สะพานขอม
![ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ สะพานขอมจังหวัด สกลนคร](https://lh3.googleusercontent.com/blogger_img_proxy/AEn0k_u5QZ3XOUDNXzjy6SKEEjgqKlVTxhFfqxCDbkX828HIQRtYDK07E2eNAT_bEg4jhMo7YIHFV6oyPzOTuKH8sEI2MlsXc82FbIhoiYuwCj4eBtdIZRV2GlY8_Akt6ptWJQz40Q=s0-d)
สะพานขอม หรือสะพานหิน อยู่ก่อนเข้าตัวเมือง เป็นโบราณสถานเล็ก ๆ ริมถนนสายนิตโย ถนนเส้นทางหลวงหมายเลข 22 ใกล้กิโลเมตรที่ 161 เส้นสกลนคร-อุดรธานี สันนิษฐานว่าเป็นสะพานโบราณที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นเส้นทางสัญจรจากตัวเมืองสกลนครไปยังนอกเมือง เนื่องจากบริเวณนี้เดิมเป็นที่ลุ่มน้ำท่วมขัง สะพานที่เห็นในปัจจุบันก่อด้วยศิลาแลง ซึ่งสร้างขึ้นใหม่หลังจากของเดิมได้ถูกรื้อทิ้งเพื่อก่อสร้างถนน
ปราสาทพระธาตุนารายณ์เจงเวง
ปราสาทพระธาตุนารายณ์เจงเวง ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดพระธาตุนารายณ์เจงเวง บ้านธาตุ ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 5 กิโลเมตร โดยใช้เส้นทางสายสกลนคร-อุดรธานี ทางหลวงหมายเลข 22 ถึงบริเวณบ้านธาตุซึ่งอยู่ก่อนถึงสี่แยกถนนเลี่ยงเมืองเล็กน้อยแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าไปอีก 400 เมตร เป็นพระธาตุประกอบด้วยปรางค์องค์เดียว สร้างด้วยหินทรายบนฐานศิลาแลงขนาดใหญ่ สลักลวดลายลงบนเนื้อหิน มีทับหลังจำหลักภาพ
พระกฤษณะฆ่าสิงห์ ในรูปแบบศิลปะเขมร สมัยบาปวน ลักษณะคล้ายกับปราสาทหินของขอมที่ปรากฏหลายแห่งภาคอีสาน ลวดลายสลักหินบนซุ้มประตู หน้าต่างยังมีลักษณะสมบูรณ์ปรากฏชัด ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นฝีมือของผู้หญิงสร้างทั้งหมด เพื่อแข่งขันกับผู้ชายที่สร้างพระธาตุภูเพ็ก รูปแบบและศิลปะกำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 16–17 งานประเพณีของพระธาตุเจงเวงจะเริ่มตั้งแต่วันขึ้น 11 ค่ำ-15 ค่ำ เดือน 4 ของทุกปี
พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์
![ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์จังหวัด สกลนคร](https://lh3.googleusercontent.com/blogger_img_proxy/AEn0k_sFj29rQWgLzfiwRhybGxOjebW7cTx-KvwpySFZm3xlkpHZzHyEP45nDtnO2HmM1zYr2iY8CwpmC04ioizhgfOw6OIlu_KeXG9m65IPjljgQklKvifkZIQDFRbXliOxPQ3TlC-Vf_l6Fod-jwigpz3m0qdTCQX8BsIT4r7Uzx2_28Q3ztfqDiw2wZhwRLu99MeB9pXJmzEoc3J2LQi0Bm_ps5GwoyKJAJAf0-Bjmv0xYFK6EZyHbR_eCVCq7uKw-dKu5bkNCZcrgjslYrnA6BUnwMc-opEQlu4__0ew-cZsnCLsDmjPBU_6QMFhqYPU3OZMhLGtwaUSqtMk6e1owRgGgGcK_zG23pinCgQxyLQ7ZzjhouRfOlkoInnFCkfGHzq1LYAy1Ud8zy9MWaeOqCAPPlMupkgjevzaFcDQCgSOXXe2rXNZZd4jNtFVmclGqZiFVdpCn7meWvQWHqdvArw3Ad30ricr_YhhYko=s0-d)
พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ ตั้งอยู่กลางเทือกเขาภูพาน บนเส้นทางหลวงสายสกลนคร-กาฬสินธุ์ เส้นทางหลวงหมายเลข 213 ห่างจากตัวเมืองสกลนคร 13 กิโลเมตร มีทางแยกเข้าไปทางด้านขวามือ ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 2106 เป็นสถานที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ตลอดจนพระราชวงศ์ ในคราวเสด็จแปรพระราชฐานเยี่ยมพสกนิกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณสถานที่ตั้งเป็นป่าไม้ร่มรื่น มีไม้ดอกไม้ประดับตกแต่งไว้อย่างสวยงาม ในระหว่างที่ไม่ได้ประทับอยู่ที่พระตำหนักอนุญาตให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมได้ทุกวัน โดยทำหนังสือถึงสำนักเลขาธิการพระราชวัง พระบรมมหาราชวัง ถนนหน้าพระลาน กรุงเทพฯ 10200 และเมื่อได้รับหนังสือตอบรับแล้วจึงจะเดินทางไปชมได้
อุทยานแห่งชาติภูพาน
![ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ อุทยานแห่งชาติภูพานจังหวัด สกลนคร](https://lh3.googleusercontent.com/blogger_img_proxy/AEn0k_tXSr0V167ocn9vV0HPcCwhbORN6jdF3FOLs6lpbNCJUvCTWAsrI9NFl86peskpag1WFhHUnTfWjv3QDMkmzE5iMPBTH7N_tm7rq0e-ssnU7SZ0Q8VH9oGDtiY=s0-d)
อุทยานแห่งชาติภูพาน ปัจจุบันมีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอพรรณานิคม อำเภอเมือง อำเภอกุดบาก อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร อำเภอสมเด็จ อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ ประกอบด้วยป่าที่อุดมสมบูรณ์และมีธรรมชาติที่สวยงาม เช่น น้ำตก ถ้ำ หน้าผาทิวทัศน์ตามธรรมชาติ ตลอดจนพื้นป่าแห่งนี้ในอดีตได้ชื่อว่าเป็นปัญหาทางด้านการเมือง และในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ยังเป็นแหล่งสะสมอาวุธยุทธภัณฑ์ที่ใช้สำหรับต่อต้านทหารกองทัพญี่ปุ่นซึ่งนับเป็นประวัติศาสตร์ มีเนื้อที่ประมาณ 415,439 ไร่ หรือ 664.70 ตารางกิโลเมตร
ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2502 ให้กำหนดป่าเขาภูพานหรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “ป่าเขาชมภูพาน” จังหวัดสกลนคร และจังหวัดกาฬสินธุ์ และป่าอื่นๆ ในท้องที่จังหวัดต่างๆ รวม 14 ป่า เป็นอุทยานแห่งชาติเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเอาไว้เป็นการถาวรเพื่อประโยชน์ส่วนรวม กรมป่าไม้ได้เสนอจัดตั้งป่าภูพานเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 244 ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2515 กำหนดบริเวณที่ดินป่าภูพานในท้องที่ตำบลนาใน ตำบลไร่ ตำบลนาหัวบ่อ อำเภอพรรณานิคม ตำบลโคกภู ตำบลนาม่อง อำเภอกุดบาก และตำบลห้วยยาง ตำบลพังขว้าง อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร และตำบลแซงบาดาล อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ เนื้อที่ 418,125 ไร่ หรือ 669 ตารางกิโลเมตร เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 89 ตอนที่ 170 ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2515 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 7 ของประเทศ
![ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ อุทยานแห่งชาติภูพานจังหวัด สกลนคร](https://lh3.googleusercontent.com/blogger_img_proxy/AEn0k_tQOFlQpO01uaMv_4XxG-5bSbkTIO0lMLEy0aGbZZvLcTWE2VwxXvrfnQQpOeCe6f4TKx45X8wD5-OeAdnBjoLNaNhVf7M6jG3_POE7_WzWBqCTO0H8GM0d6_vFirxqLBp54maj0PX3ziyu2ECQ6R4FbDH5iUc4MH8xU-HClDGOzQ=s0-d)
จังหวัดกาฬสินธุ์ได้มีหนังสือที่ กส 09/598 ลงวันที่ 12 มกราคม 2516 รายงานว่า ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 244 ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2515 กำหนดให้ที่ดินป่าภูพานเป็นอุทยานแห่งชาตินั้น ปรากฏว่ามีพื้นที่บางส่วนในบางตำบลของจังหวัดกาฬสินธุ์เป็นเขตอุทยานแห่งชาติแต่ไม่ได้ระบุชื่อตำบลลงไว้ กรมป่าไม้จึงได้ดำเนินการตรวจสอบแนวเขตอุทยานแห่งชาติใหม่ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกายกเลิกประกาศคณะปฏิวัติ และกำหนดบริเวณที่ดินป่าภูพานในท้องที่ตำบลนาใน ตำบลไร่ ตำบลนาหัวบ่อ อำเภอพรรณานิคม ตำบลพังขว้าง ตำบลห้วยยาง อำเภอเมือง ตำบลนาม่อง ตำบลโคกภู อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร และตำบลแซงบาดาล อำเภอสมเด็จ ตำบลคำบง อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 92 ตอนที่ 106 ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2518
กรมป่าไม้ดำเนินการรังวัดแนวเขตของพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูพาน เพื่อทำการขอเพิกถอนแนวเขตอุทยานแห่งชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2520 ซึ่งอนุมัติในหลักการให้เพิกถอนพื้นที่บริเวณบ่อหิน เนื้อที่ไม่เกิน 5 ไร่ คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติได้มีมติในคราวประชุม ครั้งที่ 2/2521 เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2521 ให้กรมป่าไม้ดำเนินการเพิกถอนพื้นที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ สำนักสงฆ์ถ้ำขาม (หลวงปู่ฝั้น) และอ่างเก็บน้ำห้วยแข้ ออกจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูพาน แต่เนื่องจากแนวเขตอุทยานแห่งชาติตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าภูพานให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2518 ไม่ได้ระบุชื่อตำบลบางตำบลไว้ จึงไม่สามารถดำเนินการเพิกถอนได้ กรมป่าไม้จึงเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติได้มีมติในคราวประชุม ครั้งที่ 3/2523 เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2523 ดำเนินการตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาให้แนวทางปฏิบัติ โดยให้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาขึ้นไปใหม่และกันพื้นที่ดังกล่าวออกเสียและเพิ่มตำบลที่ตกหล่นให้สมบูรณ์ เป็นการเปลี่ยนแปลงแนวเขตอุทยานแห่งชาติ ได้มีพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงเขตอุทยานแห่งชาติป่าภูพาน ในท้องที่ตำบลนาใน ตำบลไร่ ตำบลห้วยบ่อ อำเภอพรรณานิคม ตำบลพังขว้าง ตำบลห้วยยาง อำเภอเมือง ตำบลนาม่อง ตำบลโคกภู ตำบลสร้างค้อ อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร และตำบลแซงบาดาล ตำบลมหาไชย ตำบลผาเสวย อำเภอสมเด็จ ตำบลคำบง กิ่งอำเภอห้วยผึ้ง อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ พ.ศ. 2525 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 99 ตอนที่ 161 ลงวันที่ 29 ตุลาคม 2525 รวมเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 415,439 ไร่ หรือ 664.70 ตารางกิโลเมตร (คือระบุตำบลเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงแนวเขตตำบลและเพิกถอนสำนักสงฆ์ถ้ำขาม บ่อหิน พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ อ่างเก็บน้ำห้วยแข้ ออกจากเขตอุทยานแห่งชาติ)
ลักษณะภูมิประเทศ
อุทยานแห่งชาติภูพานตั้งอยู่ในเขตเทือกเขาภูพาน มีลักษณะโครงสร้างทางธรณีเป็นหินทราย โดยมีความสูงอยู่ระหว่าง 200-567 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ประกอบด้วยภูนางงอย ภูมะแงว ภูน้อย ภูเพ็ก โดยมีภูเขียวซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดกาฬสินธุ์เป็นจุดสูงสุดในเขตอุทยานแห่งชาติ มีความสูง 567 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธารและห้วยต่างๆ เช่น ห้วยเลา ห้วยอีโคก ห้วยยาง ห้วยเวียงไพร ห้วยขี้นก ห้วยโคก ห้วยวังถ้ำ ห้วยผึ้ง ห้วยอีดอน น้ำอูนตอนบน ห้วยทราย และห้วยนาจาน ซึ่งจะไหลลงสู่แม่น้ำอูน ห้วยแข้ ห้วยแสนกง และน้ำพุงตอนบน ไหลลงแม่น้ำพุง ห้วยสะทด ห้วยแก้งหว้า ห้วยแก้งโคก และห้วยหลัก ไหลลงลำน้ำยัง ห้วยพริกไหลลงลำปาว ห้วยทรายและห้วยเดียกไหลลงสู่หนองหาร
ลักษณะภูมิอากาศ
สภาพภูมิอากาศแบ่งเป็น 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน ระหว่างเดือนมีนาคม-เดือนพฤษภาคม ฤดูฝน ระหว่างเดือนมิถุนายน-เดือนตุลาคม ฝนตกชุกประมาณเดือนกันยายน และฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-เดือนกุมภาพันธ์ อากาศเย็นสบาย
พืชพรรณและสัตว์ป่า
สภาพป่าในอุทยานแห่งชาติภูพานประกอบด้วยชนิดป่าที่สำคัญ 3 ชนิด คือ ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรังพบขึ้นอยู่ตั้งแต่ตอนกลางของอุทยานแห่งชาติขึ้นไปจนถึงด้านทิศเหนือ ในระดับความสูง 200-400 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ เต็ง รัง เหียง พลวง ตีนนก กว้าว แดง ส้าน ช้างน้าว กระโดน มะพอก ฯลฯ พืชพื้นล่างประกอบด้วย หญ้าเพ็ก ตะโกหิน ปอหู ปรง พวงประดิษฐ์ รางจืด เป็นต้น ป่าดิบแล้ง พบขึ้นอยู่เป็นผืนใหญ่ตอนกลางค่อนไปทางทิศใต้ของอุทยานแห่งชาติ และเป็นหย่อมเล็กๆ กระจายอยู่ทางด้านทิศเหนือและทิศใต้ ในระดับความสูงตั้งแต่ 400 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลางขึ้นไป ชนิดไม้ที่สำคัญได้แก่ เขล็ง นางดำ ก่อ กะพี้เขาควาย หว้า เปล้าหลวง ขนุนป่า แคหางค่าง เหมือด หมากมุ้ย ฯลฯ พืชพื้นล่างส่วนใหญ่เป็นลูกไม้และกล้าไม้ของไม้ชั้นบน เช่น ตีนตั่ง นางดำ รวมทั้ง เข็มขาว เข็มแดง เฟิน ไม้เถา เป็นต้น และป่าเบญจพรรณ พบขึ้นอยู่ทางตอนใต้ของอุทยานแห่งชาติ ชนิดไม้ที่สำคัญได้แก่ ตีนนก ติ้ว คางฮุ่ง แดง มะกอกเลื่อม แสนคำ ประดู่ โมกมัน ตะแบก ฯลฯ ส่วนพืชพื้นล่างประกอบด้วย ลูกไม้ของไม้ชั้นบน มะเม่า ไผ่ หญ้าคา ไม้เถา เป็นต้น
สัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในอุทยานแห่งชาติภูพานมีไม่น้อยกว่า 162 ชนิด ประกอบด้วย ช้างป่า กวางป่า เก้งธรรมดา หมูป่า ค่างแว่นถิ่นเหนือ หมีหมา ชะมดแผงสันหางดำ ลิงกัง อ้นเล็ก นากใหญ่ขนเรียบ กระจ้อน ค้างคาวขอบหูขาวกลาง นกยางไฟ เหยี่ยวรุ้ง นกกระทาทุ่ง นกกระปูดใหญ่ นกตะขาบทุ่ง นกปรอดสวน นกแซงแซวสีเทา นกเด้าดินทุ่ง ไก่ป่า คางคกบ้าน เขียดจะนา กบอ่อง อึ่งอ่างบ้าน จิ้งจกหางหนาม ตุ๊กแกบ้าน กิ้งก่าหัวแดง แย้ จิ้งเหลนหลากหลาย งูเขียวดอกหมาก งูสายม่านธรรมดา งูปล้องฉนวนลาว เป็นต้น และในบริเวณแหล่งน้ำพบปลาน้ำจืดหลายชนิดเช่น ปลาซิว ปลาตะเพียนทราย ปลาสร้อยนกเขา ปลากระสูบจุด ปลาก้าง ปลาดุกด้าน และปลากริม เป็นต้น
พระธาตุเชิงชุม
![ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ พระธาตุเชิงชุมจังหวัด สกลนคร](https://lh3.googleusercontent.com/blogger_img_proxy/AEn0k_u8cyUhCu0Mp3GG2R8meqs0RAJNYYa3sKvfMKx4xz7WxuSP9Ol4qCpOhXZDo3TvrPhzvwY5dZaxddzz5BHZoLERFIMYE6na873sScyMTTMicx2X8g=s0-d)
พระธาตุเชิงชุม ตั้งอยู่ในวัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร ปลายถนนเจริญเมือง ในเขตเทศบาลเมืองสกลนคร เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน ฐานรูปสี่เหลี่ยม สูงประมาณ 24 เมตร ยอดฉัตรทองคำเหนือองค์พระธาตุเชิงชุมทำด้วยทองคำบริสุทธิ์มีน้ำหนัก 247 บาท มีซุ้มประตู 4 ด้าน ข้างในทึบ สร้างครอบรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าสี่พระองค์ ซึ่งหมายถึง พระกกุสันทะ พระโกนาคม พระกัสสะปะ และพระโคดม หรือพระศรีอารียเมตตรัย (คือ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ชาวพุทธศาสนิกชนเคารพสักการะบูชาอยู่ทุกวันนี้) สร้างขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานชัด แต่นับเป็นปูชนียสถานสำคัญคู่บ้านคู่เมืองสกลนครมาแต่โบราณ ภายในวิหารใกล้พระธาตุเชิงชุม เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อองค์แสนอันศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพนับถือ และเป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนในจังหวัดสกลนคร ทุกวันพระในตอนค่ำจะมีประชาชนไปบูชากราบไหว้พระธาตุ และหลวงพ่อองค์แสนเป็นจำนวนมาก งานประจำปีของพระธาตุเชิงชุมจะเริ่มตั้งแต่วันขึ้น 9 ค่ำ ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนยี่ของทุกปี (กำหนดตามจันทรคติ)
ผาเสวย
ตั้งอยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติภูพาน อยู่ในเขตจังหวัดกาฬสินธุ์ ลักษณะเป็นหน้าผาที่หันหน้าไปทางทิศใต้ ณ ที่แห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เคยเสด็จและประทับเสวยพระกระยาหารกลางวัน จึงได้ชื่อว่า ผาเสวย มาแต่บัดนั้น อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 40 กิโลเมตร
กิจกรรม - ชมทิวทัศน์
น้ำตกแก้งกระอาม
![ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ น้ำตกแก้งกะอาม จังหวัด สกลนคร](https://lh3.googleusercontent.com/blogger_img_proxy/AEn0k_uOw6hsA5zBNA0t_JGV29wr1z5SL0g2jx2D344pPZrKcW3LP6yr4-5VkeC4Qgbvair4N8GiwOPTJaMesXGzk-vh0jfITtY2Kon6EalINxKqltI-KP9tYSA760k2UTnZOp0CoHc8kS0FhZ03WVAtUg=s0-d)
ตั้งอยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติภูพาน เป็นน้ำตกขนาดเล็กที่มีลานหินขนาดใหญ่สวยงาม แต่มีน้ำเฉพาะในช่วงฤดูฝน อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติไปสุดเขตทางตอนใต้ 45 กิโลเมตร
กิจกรรม - เที่ยวน้ำตก
ลานสาวเอ้
ตั้งอยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติภูพาน เป็นลานหินที่แวดล้อมด้วยป่าเต็งรัง ยามเปลี่ยนสีเข้าสู่ฤดูแล้งจึงสวยงามมาก บนลานหินยังเต็มไปด้วยดอกไม้เล็กๆ สวยงามอย่างดุสิตา กระดุมเงิน และสร้อยสุวรรณ
กิจกรรม - ชมพรรณไม้ - เที่ยวถ้ำ/ธรณีวิทยา
สะพานหินธรรมชาติ
ตั้งอยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติภูพาน มีลักษณะเป็นสะพานหินที่เชื่อมต่อระหว่างหินสองกลุ่ม ขนาดกว้างของสะพานประมาณ 1.5 เมตร ยาวประมาณ 8 เมตร ด้านใต้เป็นเวิ้งถ้ำกว้างใช้เป็นที่หลบแดดหลบฝนได้ นับว่าเป็นความมหัศจรรย์ของธรรมชาติอย่างหนึ่ง อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 7 กิโลเมตร
กิจกรรม - เที่ยวถ้ำ/ธรณีวิทยา
เทือกเขาภูพาน
ตั้งอยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติภูพาน เป็นขุนเขาแห่งประวัติศาสตร์ที่มีผู้รู้จักมากที่สุด แต่เป็นดินแดนที่น้อยคนนักที่ได้เข้าไปสัมผัสความงดงามตามธรรมชาติ โดยเฉพาะรอยต่อระหว่างจังหวัดสกลนคร-กาฬสินธุ์ สภาพป่า ภูเขา น้ำตกยังบริสุทธิ์ ท้าท้ายต่อการพิสูจน์เสมอ
กิจกรรม - เที่ยวน้ำตก - ชมทิวทัศน์
น้ำตกคำหอม
ตั้งอยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติภูพาน เป็นน้ำตกที่รู้จักกันโดยแพร่หลายของชาวสกลนครและจังหวัดใกล้เคียง ในบริเวณน้ำตกแห่งนี้ทางราชการได้จัดงานสัปดาห์การท่องเที่ยว เพื่อชี้แจงให้ราษฎรได้รู้จักความสำคัญของป่าไม้ที่มีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันของมนุษย์เป็นประจำทุกปี น้ำตกแห่งนี้อยู่ใกล้เคียงกับน้ำตกตาดโตน ซึ่งอยู่ใกล้กับเขตพระราชฐาน
กิจกรรม - เที่ยวน้ำตก
น้ำตกปรีชาสุขสันต์
ตั้งอยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติภูพาน มีลักษณะเป็นลานหินลาดเอียงประมาณ 30-40 องศา ยาวประมาณ 15 เมตร บนลานหินที่ลาดเอียงนี้มีน้ำไหลผ่านบนผิวเสมอกันทั้งแผ่นเหมือนกระดานลื่นธรรมชาติกลางป่าเขา ทางเข้าอยู่ก่อนถึงน้ำตกคำหอม อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 50 กิโลเมตร
กิจกรรม - เที่ยวถ้ำ/ธรณีวิทยา - เที่ยวน้ำตก
ผานางเมิน
ตั้งอยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติภูพาน เป็นแนวหินผาที่ทอดตัวออกหันหน้าไปทางทิศตะวันตก สามารถชมทิวทัศน์ออกไปได้ไกลแสนไกล เหมาะแก่การตั้งค่ายพักแรมและดูพระอาทิตย์ตก อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 700 เมตร
กิจกรรม - แค็มป์ปิ้ง - ชมทิวทัศน์