เผ่าไท-ลาว หรือ ไทยอีสาน
กลุ่มไท-ลาวได้รับอิทธิพลจากราชธานีเวียงจันทร์โบราณมีตัวอักษรไทยน้อย หรือตัวลาว อักษรธรรม หรือตัวขอม พูดภาษาไทย-ลาว (ภาษาอีสาน) เป็นกลุ่มผู้นำทางด้านวัฒนธรรมภาคอีสาน เช่น ฮีตสิบสอง และคองสิบสี่ ก่อเกิดการทำบุญตามเทศกาลในรอบปี ทำให้มีงานบุญพระเวส (พระเวสสันดร) บุญบั้งไฟ เป็นต้น และยังมีการสวดสรภัญญะเป็นการสวดหมู่ทำนองไพเราะ มีการไหว้ครูบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และสิ่งที่ควรเคารพบูชา มีสัญลักษณ์แห่งความศรัทธาในศาสนา การศรัทธาวัดพระธาตุเชิงชุม พระธาตุนารายณ์เจงเวงเป็นสถูปเจดีย์เพื่อการเคารพบูชา
นิยมตั้งหมู่บ้านเป็นกลุ่มบนที่ดอนเรียกตามภาษาท้องถิ่นว่า "โนน" ยึดทำเลการทำนาเป็นสำคัญ
การแต่งกายนิยมผ้าฝ้าย หากเป็นงานพิธีการจะนิยมผ้าไหม ผู้หญิงจะนุ่งผ้าซิ่นยาวปิดเข่าตกแต่งชายผ้าซิ่น เรียกว่า ตีนซิ่น ห่มสไบทับหรือผ้าเบี่ยง ฝ่ายชายจะนุ่งกางเกง ภาษาถิ่นเรียก “โซ่ง” เสื้อคอกลมผ้าหน้าติดกระดุม นิยมผ้าขาวม้าคาดเอว
อาหารของชาวไทยลาว จะรับประทานข้าวเหนียวเป็นหลัก อาหารของชาวไทยลาว คือ อาหารเครื่องจิ้ม เช่น แจ่วบอง ป่นนานาชนิด เช่น ป่นเขียด ป่นกบ ป่นปลา เป็นต้น ในงานเทศกาลสำคัญของชาวไทยลาวจะมีอาหารพิเศษ เช่น ลาบหมู ลาบไก่ ลาบปลา ลาบวัว ก้อยกุ้ง ก้อยเนื้อ ก้อยหอย เนื้อวัว – เนื้อควายย่าง แกงต่าง ๆ ของชาวไทยลาวจึงเรียกว่า อ่อม ส่วนอาหารหลักประจำวันคือส้มตำมะละกอ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น